| ไม่ใครพบรุ่งอรุณอันสดใส โดยไม่ผ่านรัตติกาลอันมืดมน |
| ไม่ใครพบรุ่งอรุณอันสดใส โดยไม่ผ่านรัตติกาลอันมืดมน |
อุปกรณ์สำหรับสำรองไฟในเวลาฉุกเฉินของคอมพิวเตอร์ คือ UPS (Uninterrupted Power Supply: อุปกรณ์จ่ายไฟต่อเนื่อง) มีประโยชน์ในการสำรองไฟเวลาไฟดับ ทำให้บันทึกงานได้ทัน ปิดเครื่องได้ทัน ช่วยป้องกันอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เวลาไฟตก หรือไฟเกิน แต่ UPS ก็ข้อจำกัด คือสำรองไฟได้ในระยะที่กำหนด โดยปกติจะสำรองไฟได้ประมาณ 5-20 นาที (ขึ้นอยู่กับขนาดและกำลังไฟที่ใช้) จึงมีคนหัวใส (หรือเปล่าก็ไม่รู้) ตั้งคำถามว่า เมื่อเครื่องสำรองไฟหนึ่งเครื่อง สำรองไฟได้นาน 15 นาที ถ้านำเอาเครื่องสำรองไฟ 2 เครื่อง มาพ่วงกัน จะสำรองไฟได้นานขึ้นเป็น 30 นาทีไหม เพราะช่วงที่ไฟดับ เครื่องสำรองไฟเครื่องที่หนึ่ง ก็จ่ายไฟให้เครื่องสำรองไฟเครื่องที่สองไปก่อน คำถามนี้ มีหลายคนคิด หลายคนสงสัย ผมจึงหาคำตอบมาให้ (UPS ที่กล่าวถึงในที่นี้ เป็น UPS ราคาประหยัด 500VA – 1500VA ราคาไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)
แม้ UPS จะสามารถสำรองไฟให้กับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ ได้ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะสามารถต่อกับ UPS ได้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต่อกับ UPS หนึ่งเครื่อง ต้องไม่เกินกำลังที่ UPS เครื่องนั้น ๆ จะรับได้
ช่องเสียบจ่ายไฟ ด้านหลัง UPS เปรียบเสมือปลั๊ก 3 ตา ที่เราสามารถนำอุปกรณ์ต่าง ๆ มาเสียบได้ โดยปกติช่องเสียบด้านหลัง UPS จะมี 2 ประเภทคือ
1. ช่องเสียบที่สำรองไฟ และป้องกันไฟกระชาก (Surge Protection and Battery Backup) ใช้สำหรับเสียบจ่ายไฟให้กับคอมพิวเตอร์, มอนิเตอร์, เราเตอร์, ไวเลส, ตู้สาขาโทรศัพท์
2. ช่องเสียบที่ไม่สำรองไฟ แต่ป้องกันไฟกระชาก ( Surge Protection only) ใช้สำหรับเสียบจ่ายไฟให้กับพริ้นเตอร์
หลายคนไม่สังเกตุให้ดี เอาสายไฟของคอมพิวเตอร์ไปเสียบช่อง Surge Protection ทำให้เวลาไฟดับ คอมพิวเตอร์ก็ดับด้วย ขณะเดียวกัน ถ้าเอาสายไฟของพริ้นเตอร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลเซอร์พริ้นเตอร์) ไปเสียบช่อง Battery Backup ทำให้เวลาสั่งพิมพ์ UPS จะร้องหรือบางทีอาจไหม้ได้ เพราะใช้กำลังไฟเกินกว่าที่ UPS จะรับไหว
วิธีติดตั้งเครื่องสำรองไฟ (ที่ทำกันโดยทั่วไป)
ถ้าจะติดตั้งเครื่องสำรองไฟ พ่วงกัน 2 เครื่อง ทำได้ไหม ?
เข้าสู่คำตอบแก้ข้อสังสัยซะที ที่ว่าถ้าเรานำเอา UPS 2 เครื่องมาพ่วงกันแล้วจะทำให้สำรองไฟได้นานขึ้นไหม โดยวิธีการต่อก็คือ
จากปลั๊กไฟบ้าน มาที่เครื่องสำรองไฟเครื่องที่หนึ่ง – จากเครื่องสำรองไฟเครื่องที่หนึ่ง มาเครื่องสำรองไฟเครื่องที่สอง – จากเครื่องสำรองไฟเครื่องที่สอง มาที่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ
คำตอบ คือ ทำได้ แต่ไม่ได้ประโยชน์จากการพ่วงกัน
การต่อพ่วง UPS 2 ตัว ไม่ได้ทำให้การสำรองไฟยาวนานขึ้น และไม่มีประโยชน์ในการพ่วงกันลักษณะนี้ เพราะเมื่อไฟดับ เครื่องสำรองไฟทั้งสองเครื่องจะเริ่มใช้ไฟจากแบตเตอรี่พร้อม ๆ กัน และดับไปในเวลาใกล้เคียงกัน
เนื่องจากการทำงานของ UPS จำเป็นต้องใช้แรงดันไฟฟ้าที่เป็นรูปคลื่น sine ซึ่งเป็นแรงดันจากแหล่งจ่ายหลักหรือไฟบ้าน แต่แรงดันไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของ UPS จะจ่ายแรงดันเป็นรูปคลื่นเสมือนคลื่น sine ดังนั้นเมื่อมีการเชื่อมต่อ UPS 2 เครื่องพ่วงกัน UPS เครื่องที่ต่อกับไฟบ้าน จะได้รับแรงดันรูปคลื่น Sine จึงสามารถส่งผ่านแรงดันนี้ไปยัง UPS ต่อพ่วงได้ แต่เมื่อไฟดับ UPS ตัวที่ต่อกับไฟบ้านจะสลับมาใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ทำให้แรงดันที่จ่ายให้กับ UPS ต่อพ่วงไม่ใช่แรงดันรูปคลื่น sine ดังนั้น UPS ต่อพ่วงจึงต้องสลับมาใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ด้วยเช่นกัน (ข้อมูลจาก https://www.se.com/th/th/faqs/FA348487/) แม้จะมีเครื่องสำรองไฟที่จ่ายไฟออกมาเป็นแบบ sine wave แต่ราคาก็แพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะซื้อมาใช้กัน เราจึงไม่กล่าวถึงเครื่องสำรองไฟประเภทนั้น
อยากจะเพิ่มเติมอีกอย่างนะครับ การเลือกซื้อเครื่องสำรองไฟ ก็ต้องเลือกให้เหมาะกับไฟ ที่เราจะใช้ด้วย ถ้าต้องการไฟเยอะ ก็ต้องซื้อที่เป็น VA สูง ๆ วิธีการคำนวณเพื่อเลือกขนาดเครื่องสำรองไฟให้เหมาะกับการใช้งาน คือ
Watts ของไฟที่ใช้ x 1.6 = VA ขั้นต่ำที่เราต้องซื้อ
สมมติว่า คอมพิวเตอร์ + จอ + เราเตอร์ของเราใช้ไฟรวมกันแล้ว 400Watts เราต้องใช้เครื่องสำรองไฟขั้นต่ำ คือ 640VA
400 x 1.6 = 640
หวังว่าจะช่วยคลายความสงสัยในการใช้เครื่องสำรองไฟ (UPS) นะครับ
M | T | W | T | F | S | S |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | 2 | 3 | ||||
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |