ช่างคอมมือใหม่ : RAM คืออะไร

RAM คืออะไร

RAM ย่อมาจาก Random Access Memory : หน่วยความจำที่เข้าถึงแบบสุ่ม  เป็นหน่วยความจำหลักในคอมพิวเตอร์ ที่ทำงานร่วมกับ CPU ตลอดเวลา  สามารถเขียนและอ่านข้อมูลในตำแหน่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระและรวดเร็วกว่าหน่วยความจำประเภทอื่น เช่น Hard Disk Drive หรือ Solid State Drive

ข้อมูลที่อยู่ในหน่วยความจำ RAM จะยังคงอยู่ตราบเท่าที่คอมพิวเตอร์ยังเปิดอยู่เท่านั้น  เมื่อใดที่คอมพิวเตอร์ถูกปิด ข้อมูลในหน่วยความจำประเภทนี้จะหายไปด้วย ซึ่งต่างจากหน่วยความจำประเภทอื่น เช่น Hard Disk Drive แม้คอมพิวเตอร์จะถูกปิด ข้อมูลก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม เช่น เราเปิดโปรแกรมเวิร์ดขึ้นมา พิมพ์งาน  โปรแกรมที่เปิดขึ้นและงานที่เราพิมพ์อยู่ในหน่วยความจำ RAM ถ้าเราปิดคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้บันทึก ข้อมูลก็จะหายไป แต่ถ้าบันทึกไปไว้ในหน่วยความจำประเภทอื่น เช่น Hard Disk Drive หรือ Flash Drive ข้อมูลก็ยังคงอยู่แม้เราจะปิดคอมพิวเตอร์ไปแล้วก็ตาม

หน้าที่ของ RAM

RAM มีหน้าที่รับคำสั่งจากโปรแกรมต่าง ๆ ที่โหลดอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ แล้วส่งไปให้ CPU ประมวลผล  เมื่อ CPU ประมวลผลเสร็จ ก็ส่งกลับมาที่ RAM อีกครั้ง  หลังจากนั้น RAM จะส่งผลที่ได้กลับคืนไปให้โปรแกรมต่าง ๆ ที่ส่งคำสั่งมา  แล้วค่อยแสดงผลทางอุปกรณ์ Output เช่น จอภาพ ลำโพง หรือ พริ้นเตอร์ เป็นต้น

ส่วนประกอบของ RAM

  1. Input Storage Area คือส่วนที่เก็บข้อมูลคำสั่งจากอุปกรณ์ประเภท Input ต่าง ๆ เช่น เม้าส์ คีย์บอร์ด เป็นต้น แล้วนำมาเก็บไว้เพื่อส่งต่อให้ CPU ประมวลผล
  2. Working Storage Area คือส่วนที่เก็บข้อมูลที่อยู่ในระหว่างการประมวลผลของ CPU
  3. Output Storage Area คือส่วนที่เก็บข้อมูลผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลของ CUP เพื่อรอส่งไปออกไปแสดงผลผ่านอุปกรณ์ Output เช่น หน้าจอ, ลำโพง เป็นต้น
  4. Program Storage Area คือส่วนที่เก็บข้อมูลชุดคำสั่ง หรือโปรแกรมที่ผู้ใช้ต้องการจะส่งเข้ามา เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ตามคำสั่งดังกล่าว

ชนิดของ RAM  แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. DRAM : Dynamic Random Access Memory คือหน่วยความจำที่เข้าถึงแบบสุ่มแบบไดนามิก เป็นแรมที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ทั่วไป ข้อมูลที่โหลดอยู่ใน DRAM จะต้องได้รับการรีเฟรชอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทำงานช้าเพราะต้องเสียเวลากับการรีเฟรช แต่ก็มีข้อดีคือมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ทำให้ได้รับความนิยมผลิตในเชิงพาณิชย์
  2. SRAM : Static Random Access Memory คือหน่วยความจำที่เข้าถึงแบบสุ่มแบบคงที่   SRAM ทำงานได้เร็วกว่า DRAM  ไม่จำเป็นต้องรีเฟรชข้อมูลอย่างต่อเนื่องเหมือน DRAM แต่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า จึงนิยมใช้เฉพาะในส่วนที่จำเป็นต้องใช้ RAM ที่มีความเร็วสูง เช่น Cache Memory เป็นต้น

RAM  ที่ช่างมือใหม่ควรรู้จัก

RAM ที่เราควรทำความรู้จักซึ่งจะกล่าวถึง คือ DRAM สำหรับ Desktop และ Notebook เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ช่างมือใหม่ต้องได้เห็นได้สัมผัสแน่นอน

 

▶️ SDRAM : Synchronous Dynamic Random Access Memory
ผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 1993 เป็น DRAM ที่สามารถซิงโครไนซ์ตัวเองกับสัญญาณนาฬิกาของระบบคอมพิวเตอร์ ความสามารถในการซิงโครไนซ์นี้ทำให้ SDRAM ทำงานได้เร็วกว่าหน่วยความจำรุ่นก่อน ๆ
ลักษณะของ SDRAM คือ
          : สำหรับ Desktop มีจุดบาก (notch) 2 ตำแหน่ง มี 168 Pins
          : สำหรับ Notebook มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 144 Pins
ความเร็วของ SDRAM คือ
          : SD 66MHz PC66
          : SD 100MHz PC100
          : SD 133MHz PC133

▶️ DDR SDRAM : Double Data Rate Synchronous Dynamic Random Access Memory ผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 2000 เป็น DRAM ที่พัฒนาต่อจาก SDRAM  มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เนื่องจากสามารถเขียนข้อมูลได้ถึงสองครั้งต่อหนึ่งสัญญาณนาฬิกา (จะเรียกว่า DDR1 หรือ DDR เฉย ๆก็ได้)  เนื่องจาก DDR SDRAM ทำความเร็วได้เป็นสองเท่าของ SDRAM ทำให้ความเร็วขั้นต่ำของ DDR1 คือ 266MHz (SDRAM PC133 จึงเท่ากับ 133MHz x 2 = 266MHz)
ลักษณะของ DDR SDRAM
          : สำหรับ Desktop มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 184 Pins
          : สำหรับ Notebook มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 200 Pins (สำหรับ Notebook ที่เป็น MicroDIMM มี 172 Pins)
ความเร็วของ DDR1 SDRAM คือ
          : DDR-200MHz PC-1600 
          : DDR-266MHz PC-2100 
          : DDR-333MHz PC-2700 
          : DDR-400MHz PC-3200

▶️DDR2 SDRAM : Double Data Rate Two  Synchronous Dynamic Random Access Memory ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 มีการพัฒนา SDRAM ขึ้นมาเป็นเจเนเรชั่นที่สอง มีความเร็วเป็นสองเท่าของ DDR1
ลักษณะของ DDR2 SDRAM
          : สำหรับ Desktop มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 240 Pins
          : สำหรับ Notebook มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 200 Pins (สำหรับ Notebook ที่เป็น MicroDIMM มี 214 Pins)
ความเร็วของ DDR2 SDRAM คือ
          : DDR2-400MHz PC2-3200 
          : DDR2-533MHz PC2-4200 
          : DDR2-667MHz PC2-5300 
          : DDR2-800MHz PC2-6400
          : DDR2-1066MHz PC2-8500

▶️ DDR3 SDRAM : Double Data Rate Three Synchronous Dynamic Random Access Memory ผลิตขึ้นในปี 2007 เป็น SDRAM ที่ผลิตขึ้นเพื่อทดแทน DDR2 มีความถี่สัญญาณนาฬิกาและแบนด์วิธสำหรับส่งข้อมูลมากขึ้น ใช้แรงดันไฟน้อยลง ทำให้ประหยัดไฟและร้อนน้อยลงไป มีประสิทธิภาพสูงกว่า DDR2
ลักษณะของ DDR3 SDRAM
          : สำหรับ Desktop มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 240 Pins
          : สำหรับ Notebook มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 204 Pins

ความเร็วของ DDR3 SDRAM คือ
          : DDR3-800MHz PC3-6400
          : DDR3-1066MHz PC3-8500
          : DDR3-1333MHz PC3-10666
          : DDR3-1600MHz PC3-12800
          : DDR3-1866MHz PC3-14900
          : DDR3-2133MHz PC3-17000

▶️DDR4 DDR4 SDRAM (Double Data Rate Foruth SDRAM ผลิตในปี 2014 นับได้ว่าเป็น SDRAM ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน
ลักษณะของ DDR4 SDRAM
          : สำหรับ Desktop มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 288 Pins
          : สำหรับ Notebook มีจุดบาก (notch) 1 ตำแหน่ง มี 260 Pins
ความเร็วของ DDR4 SDRAM คือ
          : DDR4-1600MHz PC4-12800

          : DDR4-1866MHz PC4-14900
          : DDR4-2133MHz PC4-17000 
          : DDR4-2400MHzPC4-19200 
          : DDR4-2666MHz PC4-21300
          : DDR4-2933MHz PC4-23400
          : DDR4-3000MHz PC4-24000
          : DDR4-3200MHz PC4-25600
          : DDR4-3466MHz PC4-27700
          : DDR4-3600MHz PC4-28800
          : DDR4-4000MHz PC4-32000
          : DDR4-4133MHz PC4-33000
          : DDR4-4500MHz PC4-36000

ช่างมือใหม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับแรม

  1. เมนบอร์ดเป็นตัวกำหนดว่าจะใช้ RAM รุ่นไหนได้บ้าง ให้ศึกษาจากคู่มือเมนบอร์ดก่อนเลือก RAM
  2. เมนบอร์ดบางรุ่น สามารถใช้ RAM ได้ 2 รุ่น แต่ไม่สามารถใช้ทั้งสองรุ่นพร้อมกันได้ ต้องเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง
  3. RAM แต่ละรุ่น ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ แม้ความยาวของสล๊อตจะเท่ากัน แต่จุดบาก (notch) ของแต่ละรุ่นจะไม่ตรงกัน ทำให้ใส่ไม่ได้ เพื่อป้องกันความผิดพลาด
  4. RAM รุ่นเดียวกัน แต่ความเร็วต่างกัน อาจจะใช้ด้วยกันได้ หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสเปคฯของเมนบอร์ดว่ารองรับ RAM รุ่นนั้น ๆ ที่ความเร็วเท่าไหร่

RAM ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วขึ้น แล้วเราควรใส่แรมเท่าไหร่ถึงจะพอ ?   การจะกำหนดว่าเราควรใส่แรมให้กับคอมพิวเตอร์เป็นขนาดเท่าใด ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้โปรแกรมบนคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์สเปคฯเดียวกัน ถ้าใช้งานพิมพ์เอกสาร ติดตั้งแรมเพียง 2GB – 4GB ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้โปรแกรมตัดต่อรูปภาพหรือตัดต่อไฟล์วีดีโอ อาจจะต้องติดตั้งแรม  8GB หรือ 16GB ขึ้นไป  
หวังว่าจะเป็นแนวทางสำหรับช่างมือใหม่ ศึกษาเรียนรู้กันไป สักวันจะต้องเข้าใจ และทำได้ในที่สุด… สวัสดีครับ