แนวทางอัปเกรดแรมด้วยตัวเอง
วิธีอัปเกรด Memory ด้วยตัวเอง
โดย เอกสามวา
การอัปเกรดคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการอัปเกรดด้านฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ คือการเพิ่มประสิทธิภาพคอมพิวเตอร์ให้สูงขึ้น ในปัจจุบันผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากมีความรู้ด้านฮาร์ดแวร์มากขึ้น ทำให้กล้าที่จะอัปเกรดคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง แต่ยังมีอีกหลายคนที่พอจะมีความรู้อยู่บ้าง แต่ก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ในบทความต่อไปนี้ ผมจะมาเสริมความมั่นใจสำหรับผู้ที่ต้องการอัปเกรดแรมด้วยตัวเอง โดยจะกล่าวถึงตั้งแต่วิธีการหาข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรด การเลือกซื้อแรมมาอัปเกรด และวิธีแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดจากการอัปเกรดแรม
ข้อมูลที่ต้องรู้ก่อนอัปเกรด Memory
- คอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรด เป็นแบบไหน
- คอมพิวเตอร์ที่เราจะอัปเกรด รองรับความจุแรมได้สูงสุดเท่าไหร่
- คอมพิวเตอร์ที่เราจะอัปเกรด รองรับแรมความเร็วเท่าไหร่
- คอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรด มีสล็อตสำหรับใส่แรมกี่สล็อต ใช้ไปแล้วกี่สล็อต
1. คอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรด Memory เป็นแบบไหน
ผมขอแบ่งประเภทคอมพิวเตอร์ ที่เราจะต้องรู้เพื่อการอัปเกรดแรมเป็น 2 ประเภทคือ
- คอมพิวเตอร์ประเภท Desktop PC (คอมพิวเตอร์ที่เครื่องกับจอ แยกออกจากกัน)
- คอมพิวเตอร์ประเภท All In One (คอมพิวเตอร์ที่เครื่องกับจอติดอยู่ในชุดเดียวกัน) Micro PC (คอมพิวเตอร์ที่เครื่องกับจอ แยกจากกัน แต่เครื่องเป็นแบบเล็กจิ๋ว) และ Notebook
สาเหตุที่ต้องแบ่งออกเป็นสองประเภทแบบนี้ก็เพราะว่า แรมที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตามข้อหนึ่ง เป็นแรมแบบยาว ขนาด 13.5ซม. (เรามักเรียกกันว่า RAM PC) ส่วนแรมที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตามข้อสองเป็นแรมแบบสั้น ขนาด 6.8ซม. (เรามักเรียกกันว่า RAM Notebook ) [แม้ว่าจะมี PC หลายรุ่นใช้แรมแบบสั้นก็ตาม]
2. คอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรดรองรับ Memory ได้สูงสุดเท่าไหร่
วิธีที่จะรู้ได้ว่าคอมพิวเตอร์ที่เราจะอัปเกรด รองรับ Memory ได้สูงสุดเท่าไหร่ ก็คือ ต้องหาชื่อรุ่นเมนบอร์ด (สำหรับคอมพิวเตอร์ประกอบ) หรือชื่อรุ่นคอมพิวเตอร์ (สำหรับคอมพิวเตอร์แบรนด์เนม) แล้วค้นหาคู่มือเมนบอร์ดหรือรุ่นของคอมพิวเตอร์นั้น ๆ หรือจะโทรไปสอบถามที่ศูนย์บริการของคอมพิวเตอร์ตามยี่ห้อที่ใช้งานก็ได้เหมือนกัน
ชื่อรุ่นของเมนบอร์ดอยู่ตรงไหน
ชื่อรุ่นของเมนบอร์ด (คอมฯประกอบ) ให้สังเหตุดูตัวหนังสือที่ใหญ่ที่สุดบนเมนบอร์ด
ส่วนคอมพิวเตอร์แบรนด์เนมมักจะไม่ค่อยมีรุ่นเมนบอร์ดให้ (แม้จะมีก็ค้นหาข้อมูลค่อนข้างยาก) จึงแนะนำให้ค้นหาจากชื่อรุ่นจะดีกว่า
จากข้อมูลที่ได้จากเว็บไชต์ Gigabyte เมนบอร์ดรุ่น GA-H81M-DS2 รองรับ Memory ได้สูงสุด 16GB
จากข้อมูลที่ได้จากเว็บไชต์ Lenovo ทำให้เรารู้ว่า Lenovo ThinkCentre E73 รองรับ Memory ได้สูงสุด 16GB
3. คอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรดรองรับ Memory ความเร็วเท่าไหร่
วิธีที่จะรู้ได้ว่าคอมพิวเตอร์ที่เราจะอัปเกรด รองรับ Memory ความเร็วเท่าไหร่ ก็ใช้วิธีเดียวกับข้อสอง คือเอาชื่อรุ่นเมนบอร์ด หรือรุ่นคอมพิวเตอร์ไปค้นหาคู่มือในเว็บไซท์ผู้ผลิต ตามตัวอย่างในหัวข้อที่สอง ทำให้เราทราบว่า
- Mainboard Gigabyte GA-H81M-SD2 รองรับ Memory DDR3 1333MHz, 1600MHz
- Lenovo ThinkCentre E73 รองรับ Memory DDR3 1333MHz, 1600MHz
4. คอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรด มีสล็อตสำหรับใส่แรมกี่สล็อต ใช้ไปแล้วกี่สล็อต
จำนวนสล็อตแรมของคอมพิวเตอร์ที่จะอัปเกรด สามารถหาได้ตามวิธีในข้อสอง แต่เราจะไม่รู้ว่า ยังมีว่างกี่สล็อต วิธีที่ชัวร์ที่สุด ก็คือ แกะเครื่องดูให้เห็นกับตา แต่ถ้ายังไม่อยากแกะเครื่อง อันเนื่องจากเป็นโน้ตบุ๊คหรือออลอินวันพีซี ซึ่งแกะเครื่องยาก เราสามารถใช้โปรแกรมในการตรวจสอบได้ โปรแกรมที่นิยมใช้ได้แก่ CPU-Z ดาวน์โหลดติดตั้งใช้งานได้ฟรีจากเว็บ https://www.cpuid.com
หลังจากดาวน์โหลดติดตั้งเสร็จเรียบร้อย
- ดับเบิ้ลคลิ๊กเปิดโปรแกรม
- คลิ๊กที่เมนู SPD
- คลิ๊กลูกศรชี้ลง ตรงหัวข้อ Memory Slot Selection
– คอมพิวเตอร์มีสล็อตแรมกี่สล็อต จะโชว์ให้เห็น
– สล็อตแรมที่ติดตั้งแรมแล้ว จะแสดงรายละเอียดแรม พร้อมยี่ห้อ
– สล็อตแรมที่ยังว่าง จะไม่มีรายละเอียด - แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะคอมพิวเตอร์บางเครื่องแม้โปรแกรม CPUz จะแจ้งว่ามีสล็อตแรมว่างถึง 4 สล็อต แต่ในความเป็นจริง มีเพียงสล็อตเดียว(ตามรูป…)
เมื่อนำเอาข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน เราจะได้ข้อสรุปว่า คอมพิวเตอร์ของเราจะอัปเกรดแรมได้หรือไม่, อัปเกรดได้สูงสุดเท่าไหร่, ใส่ได้สล็อตละกี่ GB, ใช้แรม Speed เท่าไหร่ และยังมีสล็อตว่างหรือไม่ จากนั้นค่อยไปหาซื้อแรมมาอัปเกรด
วิธีเลือกซื้อ Memory
ผมมีวิธีตัดสินใจเลือกซื้อ Memory คือ
- แรมยี่ห้ออะไร เลือกยี่ห้อที่เรารู้จัก หากจำเป็นต้องเลือกยี่ห้ออื่น ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่า ทำไมต้องเป็นยี่ห้อนั้น ๆ
- บริษัทอะไรเป็นตัวแทนจำหน่าย เวลาแรมมีปัญหา ต้องไปเคลมที่ไหน เพราะแต่ละบริษัทจะมีมาตรฐานในการรับผิดชอบต่างกัน
- ระยะเวลาในการรับประกัน ปัจจุบันแรมทุกยี่ห้อรับประกันตลอดอายุการใช้งาน
- ราคา โดยส่วนมากราคาจะต่างกันเพียงเล็กน้อย เลือกยี่ห้อที่ไม่ราคาไม่แพงมากเกินไป และไม่ถูกกว่ายี่ห้ออื่นจนน่าตกใจ
ปัญหาที่อาจจะเกิดจาการอัปเกรด Memory
อัปเกรดแล้ว เปิดคอมพิวเตอร์ไม่ขึ้นภาพ
สาเหตุอาจจะมาจาก
- แรมอาจจะเสีย ให้ทดลองเอาไปติดตั้งกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น
- สล๊อตแรมอาจจะเสีย ให้ลองสลับสล็อต หรือทำความสะอาดสล็อตโดยใช้แปรงอ่อน ๆ (ห้ามใช้ปากเป่าทำความสะอาดเด็ดขาด เพราะเวลาเป่า จะมีน้ำลายออกไปด้วย)
- แรมที่ติดตั้งอาจจะใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวไม่ได้ (เช็คข้อมูลผิดพลาด)
- ไบออสอาจจะยังเป็นเวอร์ชั่นเก่า ให้อัปเดตให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด
อัปเกรดแล้ว เปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นภาพปกติ แต่เห็นแรมไม่เต็มจำนวนที่ติดตั้ง
- ให้เช็ควินโดวส์ว่าเป็น 32bit หรือ 64bit เพราะวินโดวส์ 32bit จะเห็นแรมไม่เกิน 4GB
– วิธีแก้ไข ต้องติดตั้งใหม่เท่านั้น ไม่สามารถอัปเกรดจากวินโดวส์ 32bit เป็น 64bitได้ - ตรวจเช็คในไบออสว่า เห็นแรมครบเต็มจำนวนหรือไม่ ถ้าเห็นไม่ครบ ให้อัปเดตไบออสให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด
- ถ้าวินโดวส์เป็น 64bit อยู่แล้ว ให้เช็คว่ามีการคอนฟิคจำกัดการใช้แรมหรือไม่
» คลิ๊กขวาที่ StartMenu เลือก Run
» พิมพ์ MSCONFIG แล้วคลิ๊ก OK
» คลิ๊กเมนู Boot
» คลิ๊ก Advanced options
» เอาเครื่องหมายถูกที่ Maximum memory ออก
» คลิ๊ก OK –>OK แล้วรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์ - หลังจากรีสตาร์ทแล้ว คอมพิวเตอร์ก็จะเห็นแรมครบเต็มจำนวนที่เราติดตั้ง
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้พอจะเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่ต้องการอัปเกรด Memory ด้วยตัวเอง หากมีข้อสงสัยหรือสอบถาม ทิ้งคำถามไว้ที่ไลน์ @s.a.comtech บางเรื่องที่ตอบได้ ยินดีตอบ แต่บางเรื่องที่ผมไม่รู้ คำถามที่ถามมา จะช่วยให้ผมและผู้สอบถามได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน สวัสดีครับ