HUB กับ SWITCH ต่างกันอย่างไร (Computer Networks)
แม้ในปัจจุบันคงไม่มีใครใช้ HUB ในระบบเน็ตเวิร์คแล้ว แต่ก็ยังมีคนถามอยู่เนือง ๆว่า HUB กับ SWITCH ต่างกันอย่างไร ผมจึงอยากเขียนเป็นความรู้เบื้องต้นแบบบ้าน ๆ หวังว่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ความเหมือนกัน ก็คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า อุปกรณ์ทั้งสองนี้ทำหน้าที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเน็ตเวิร์คผ่านสายแลน
ความต่างกัน ขอกล่าวแบบบ้าน ๆ ไม่มีหลักวิขาการดังนี้ (ไม่ขอกล่าวถึงสปีด 10Mbps, 100Mbps หรือ
1000Mbps)
HUB
- รูปแบบการส่งข้อมูล HUB จะส่งข้อมูลไปพร้อมกันทุกพอร์ตพร้อมกัน โดยไม่ตรวจสอบอะไรเลย เช่น HUB 8 Ports เมื่อพอร์ตที่ 1 จะส่งข้อมูลไปยังพอร์ตที่ 8 HUB จะส่งข้อมูลจากพอร์ตที่ 1 ไปยังพอร์ตที่ 2,3,4,5,6,7,8 พร้อมกัน เมื่อพอร์ตอื่น ๆ ได้รับ เห็นว่าไม่ได้ส่งถึงตัวเอง ก็ทิ้งไป ส่วนพอร์ตที่ 8 ก็รับไว้ แล้วประมวลผล โต้ตอบกัน
เมื่อพอร์ตที่ 8 จะส่งข้อมูลให้พอร์ตที่ 1 แทนที่จะส่งกลับมาพอร์ตที่ 1โดยตรงเลย HUB ทำแบบนั้นไม่ได้ จะต้องส่งไปให้ทุกพอร์ต (1-7) เมื่อพอร์ตอื่น ๆ เห็นว่าไม่ใช่ของตนเอง ก็ทิ้งไป ส่วนพอร์ตที่ 1 ก็รับไว้
เมื่อ HUB ส่งข้อมูลแบบไม่ฉลาด ปริมาณข้อมูลที่ไหลเวียนในระบบเน็ตเวิร์คจึงเยอะอย่างเปล่าประโยชน์ ทำให้ระบบแลนช้า นี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ HUB ทำงานช้ากว่า SWITCH - เวลาในการส่งข้อมูล HUB ไม่สามารถส่งข้อมูลพร้อม ๆ กันได้ เช่น ถ้าพอร์ตที่ 1 ต้องการส่งข้อมูลไปหาพอร์ตที่ 8 แม้จะไม่เกี่ยวกับพอร์ตที่ 2-7 แต่พอร์ตที่ 2-7 ก็ต้องอยู่ในความสงบ ห้ามส่งข้อมูลถึงกัน ต้องรอให้พอร์ตที่ 1 กับพอร์ตที่ 8 ส่งข้อมูลเสร็จก่อน (เสร็จในที่นี่คือเสร็จในบางส่วนก่อน) พอร์ตอื่น ๆ ถ้าจะส่งข้อมูลหากัน จึงจะทำได้ นั่นคือในช่วงเวลาหนึ่ง จะมีการส่งข้อมูลถึงกันเพียงการเชื่อมต่อเดียวเท่านั้น ก่อนการส่งข้อมูลทุกครั้ง HUB จะต้องตรวจสอบว่า ในระบบว่างอยู่ จึงจะส่งข้อมูลหากันได้ ถ้าตรวจสอบผิดพลาด ส่งไปพร้อมกัน ก็จะเกิดความผิดพลาด ข้อมูลชนกัน ต้องส่งใหม่ เสียเวลา ข้อมูลในระบบเยอะโดยไม่จำเป็น และกรณีนี้ก็เกิดขึ้นประจำกับระบบเน็ตเวิร์คที่เชื่อมต่อกันด้วย HUB
สืบเนื่องจากว่า ระบบต้องว่างก่อน จึงจะส่งข้อมูลหากันได้ หาก HUB นั้น ๆ มีพอร์ตเยอะ และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำนวนมากก็จะยิ่งทำให้ระบบเน็ตเวิร์คนั้นช้าลงอย่างมาก
ตัวอย่าง ComA ติดต่อกับ ComD และ ComB ติดต่อกับ ComE
(ในขณะเวลาหนึ่ง จะไม่สามรถส่งพร้อมกันได้ ต้องรอวงจรว่างก่อน และเวลาส่งก็ส่งกระจายไปทั้งระบบ)
SWITCH
- รูปแบบการส่งข้อมูล SWITCH จะตรวจสอบก่อนว่าปลายทางที่ตนจะส่ง เชื่อมต่อกับพอร์ตใด ก็ส่งข้อมูลไปยังพอร์ตนั้นโดยตรง ไม่ต้องส่งกระจายเหมือน HUB ทำให้ปริมาณข้อมูลไม่เยอะ ทำงานได้ไว ไม่มีข้อมูลเปล่าประโยชน์ที่ส่งไปยังพอร์ตอื่น ๆ
- เวลาในการส่งข้อมูล SWITCH จะสร้างวงจรส่งหากันเฉพาะพอร์ตที่ต้องการ เช่น พอร์ตที่ 1 ต้องการติดกับพอร์ตที่ 8 ก็สามารถทำได้อย่างอิสระ โดยที่พอร์ตอื่น ๆ ก็ยังส่งข้อมูลหากันได้โดยไม่ต้องรอให้พอร์ตที่ 1 กับ พอร์ตที่ 8 ทำงานเสร็จก่อน
การส่งข้อมูลแบบไม่ต้องกระจายไปทุกพอร์ตและในขณะเวลาหนึ่งๆ สามารถทำงานพร้อมกันได้ จึงทำให้ระบบเน็ตเวิร์คที่ใช้ SWITCH เป็นอุปกรณ์เชื่อมระบบ ทำงานได้รวดเร็วกว่า HUB อย่างไม่สามารถเทียบกันได้
ตัวอย่าง ComA ติดต่อกับ ComD และ ComB ติดต่อกับ ComE
(ในขณะเวลาหนึ่ง สามรถส่งพร้อมกันได้ ไม่ต้องรอวงจรว่าง และเวลาส่งก็ไม่ต้องส่งกระจายไปทั้งระบบ)