วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา : จุดเริ่มต้นของการควมคุมตนเอง
วันเข้าพรรษา คือวันเริ่มต้นที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจะพักอยู่ประจำที่ในช่วงฤดูฝน เป็นเวลา ๓ เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส (มีเดือน ๘ สองหน) ก็จะเริ่มนับจากวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง
ในช่วงเวลาจำพรรษา ๓ เดือน พระสงฆ์จะต้องอยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่ง ห้ามไปค้างแรมที่อื่น แต่หากมีกิจจำเป็นที่ต้องเดินทางไกล ไม่สามารถกลับมาให้ทันในวันเดียวได้ พระสงฆ์สามารถขออนุญาตเพื่อไปค้างแรมที่อื่นได้ครั้งละไม่เกิน ๗ คืน เรียกว่า สัตตาหะ ถ้าพระสงฆ์รูปใดไม่สามารถปฎิบัติได้ คือ ไปค้างแรมที่อื่น หรือขออนุญาตแล้ว แต่ค้างแรมที่อื่นเกินกำหนด ๗ คืน ถือว่า ขาดพรรษา และไม่ได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา
พรรษา มาจากคำว่า วัสสะ คือ ฤดูฝน
การเข้าพรรษา หมายถึง การหยุดพักในช่วงฤดูฝน
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าได้เผยแผ่พระพุทธศาสนา จนมีผู้เลื่อมใสเป็นจำนวนมาก พระภิกษุสงฆ์ก็ยิ่งมีจำนวนมากขึ้น ต่างก็หมั่นเพียรในการประกอบศาสนกิจ คือออกเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ทั่วทั้งชมพูประเทศ แม้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนทำการเกษตร เพาะปลูกข้าว พืชพันธุ์ธัญญาหาร พระสงฆ์สาวกก็ยังคงออกเผยแผ่พระศาสนา ทำให้บางครั้งเกิดความเสียหายแก่ข้าวกล้า และพืชพันธุ์ของประชาชนโดยไม่ได้ตั้งใจ
ต่อมาได้มีประชาชนทูลแก่พระพุทธเจ้าว่า ในช่วงฤดูเพาะปลูก พระสงฆ์และพุทธบริษัทที่ออกเผยแผ่พระศาสนาตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวกล้าและพืชต่าง ๆ ของประชาชน พระพุทธเจ้าจึงได้ออกพุทธบัญญัติให้พระสงฆ์ทุกรูปต้องอยู่ประจำ ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นหลักแหล่งในช่วงฤดูฝน เป็นระยะเวลา ๓ เดือน โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
กิจกรรมในวันเข้าพรรษา (สำหรับพระสงฆ์)
ในช่วงเย็นของวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะประชุมกัน ณ พระอุโบสถ ทำวัตรสวดมนต์แล้วกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา ๓ จบ
คำอธิษฐานเข้าพรรษา
อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิฯ
แปลว่า ข้าพเจ้าเข้าจำพรรษาในอาวาสนี้ ตลอดสามเดือนนี้
(อิมัสมิง อ่านว่า อิ-มัด-สะ-หมิง)
กิจกรรมในวันเข้าพรรษา (สำหรับฆราวาส)
✪ ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เจริญภาวนาตามควรแก่ภาวะ
✪ ถวายผ้าอาบน้ำฝน
✪ ถวายเทียนพรรษา
ประวัติการถวายผ้าอาบน้ำฝน
สืบเนื่องจากเครื่องใช้สอยประจำตัวของพระสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ มีเพียง ๘ อย่าง ที่เรียกว่า อัฎฐบริขาร (อัฎฐ= แปด, บริขาร=อุปกรณ์ใช้สอยของนักบวชหรือพระสงฆ์) คือ
๑. สบง (ผ้านุ่ง)
๒. จีวร (ผ่าห่ม)
๓. สังฆาฎิ (ผ้าพาดไหล่)
๔. บาตร
๕. รัดประคด (ผ้ารัดผ้านุ่ง ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัด)
๖. หม้อกรองน้ำ
๗. เข็มเย็บผ้า
๘. มีดโกน
ผ้าสำหรับนุ่งห่มของพระสงฆ์จึงมีเพียง ๓ ผืนเท่านั้น คือ สบง จีวร และ สังฆาฎิ เวลาที่ต้องอาบน้ำ ก็ต้องเปลีอยกาย เพราะไม่มีผ้าผัดเปลี่ยน
นางวิสาขา มหาอุบาสิกา ซึ่งโดยปกติได้กราบททูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์สาวกมาเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำ มีอยู่ครั้งหนึ่ง นางวิสาขาได้ให้สาวใช้ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์สาวกตามปกติเช่นเคยปฏิบัติ แต่วันนั้นมีฝนตกลงมา พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจึงเปลื้องผ้าอาบน้ำฝน เมื่อสาวใช้ของนางวิสาขามาเห็นเข้า คิดว่าเป็นพวกนักบวชชีเปลือยของต่างศาสนา จึงรีบกลับมาแจ้งแก่นางวิสาขาว่า ที่วิหารไม่มีพระภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์เลย เห็นมีแต่นักบวชชีเปลือย อาบน้ำฝนอยู่เต็มไปหมด
นางวิสาขา มหาอุบาสิกา ผู้ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ได้ฟังก็เข้าใจได้ทันทีว่า สาวใช้ของนางเข้าใจผิดแน่นอน เพราะนางวิสาขาทราบว่า พระพุทธองค์อนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สาวกใช้ผ้าเพียง ๓ ผืนเท่านั้น เมื่อถึงเวลาอาบน้ำ ไม่มีผ้าผลัดเปลี่ยน จึงต้องเปลือยกาย นางวิสาขาอาศัยเหตุการณ์ดังกล่าว ทูลขอพรจากพระพุทธองค์เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตตามที่ขอ นางวิสาขาจึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์
ผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ในช่วงฤดูฝน เรียกว่า ผ้าวัสสิกสาฎก และเนื่องจากฤดูฝน เป็นฤดูที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน จึงเป็นอันเข้าใจกันว่า ผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
✪ ตั้งนะโม ๓ จบ (นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ)
✪ กล่าวคำถวาย (ภาษาบาลี และคำแปล)
อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอาบน้ำฝน กับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ
✪ ผ้าอาบน้ำฝน ไม่ใช่ผ้าจำนำพรรษา
ผ้าอาบน้ำฝน เรียกว่า ผ้าวัสสิกสาฎก เป็นผ้านุ่ง ถวายแด่พระสงฆ์ช่วงก่อนวันเข้าพรรษา
ผ้าจำนำพรรษา เรียกว่า ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก จะเป็นผ้าไตรจีวร หรือผ้าผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือน มักจะถวายช่วงระยะใกล้วันออกพรรษา
✪ การซื้อผ้าอาบน้ำฝนถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ควรคำนึงถึงคุณภาพของผ้าด้วย เพราะเท่าที่ข้าพเจ้าสังเกตุดู เห็นว่าร้านค้าบางส่วน นำผ้าที่บางมาก มาจำหน่าย เพื่อให้สาธุชนซื้อไปถวายพระภิกษุสงฆ์ แม้คนถวายจะถวายด้วยจิตที่เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นผ้าที่บางจนไม่สามารถใช้งานได้จริง พระภิกษุสงฆ์ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากผ้านัั้น ๆ เพราะฉะนั้น ควรคำนึงถึงคุณภาพด้วย ไม่ใช่ว่าร้านบอกว่า นี่แหละผ้าอาบน้ำฝน ก็ซื้อไปถวายโดยไม่ได้ดูให้ดี
การถวายเทียนพรรษา
เนื่องจากในช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ที่ประจำอยู่ ณ วัดต่าง ๆ จะประกอบศาสนกิจเข้มข้นเป็นพิเศษตลอด ๓ เดือน มีการจุดธูปเทียนทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำทุกเช้าเย็น และมักจะจุดเทียนให้มีแสงสว่างตลอดเวลา เมื่อถึงช่วงก่อนเข้าพรรษา ประชาชนจึงนิยมหล่อเทียนขนาดใหญ่ นำไปถวายพระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์จุดเทียนได้นานตลอดพรรษา จึงนิยมเรียกเทียนขนาดใหญ่ว่า เทียนพรรษา
การหล่อเทียนพรรษาในบางพื้นที่ถือเป็นงานบุญใหญ่ ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันหล่อขึ้น อาจมีการทำเป็นลวดลายแกะสลักตามภูมิภาคนิยม เมื่อหล่อเสร็จก็จะแห่แหน สนุกสนานรื่นเริง นำไปถวานพระสงฆ์
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างเป็นหลอดไฟ การถวายเทียนพรรษา จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เป็นประเพณี มีการปรับเปลี่ยนจากถวายเทียนในช่วงเข้าพรรษา เป็นการถวายหลอดไฟแทน ซึ่งก็ได้บุญเช่นกัน เพราะจุดประสงค์คือการถวายอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างแก่พระสงฆ์ในการประกอบศาสนกิจ
คำถวายเทียนพรรษา
✪ ตั้งนะโม ๓ จบ (นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ)
✪ กล่าวคำถวาย (ภาษาบาลี และคำแปล)
ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายเทียนคู่ เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่คนที่รักทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญฯ
บางแห่งหลังคำว่า อานิสังโส จะเป็นแบบนี้
………. อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุฯ
คำแปลจะเป็น
………. เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ
ประยุกต์วันเข้าพรรษากับการใช้ชีวิต
แม้ว่าการเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ ที่จะต้องปฎิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด แต่ฆราวาสก็สามารถนำเอาช่วงเวลาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชีวิต เพื่อเพิ่มพูนความดี เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีได้ เช่น จะเคร่งครัดในศีลตลอด ๓ เดือน จะงดสุราตลอด ๓ เดือน หรือจะตั้งใจทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งตลอด ๓ เดือน เป็นต้น
เมื่อได้มีจังหวะเวลาในการทำความดีแล้ว เราจะเห็นผลของการทำความดีดังกล่าว และอาจทำให้เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตมาอยู่ในศีลในธรรมตลอดไป ชีวิตของตนเองและคนรอบข้าง ก็จะพลอยได้รับอานิสงส์แห่งการทำความดีไปด้วยฯ