วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

โดย เอกสามวา

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี 
คำว่า มาฆบูชา มาจากคำว่า มาฆปุรณมีบูชา

  • มาฆะ คือ เดือน ๓
  • ปุรณมี คือ วันเพ็ญ หรือวันพระจันทร์เต็มดวง
  • บูชา คือ การเคารพบูชา 

วันมาฆบูชา จึงหมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓  ซึ่งได้แก่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน (เดือนตามจันทรคติ)  วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ 

วันมาฆบูชาปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

าเหตุที่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปีเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า วันมาฆบูชา เพราะว่าในสมัยพุทธกาล วันดังกล่าวเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฎิโมกข์เป็นครั้งแรกแก่พระสงฆ์สาวก ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์สาวกได้นำไปปฎิบัติและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลเจริญรุ่งเรืองสืบไป

เหตุการณ์ในวันดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นวัน จาตุรงคสันนิบาต

จาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ ที่มีความมหัศจรรย์ยิ่ง (จาตุร = ๔, องค์ = ส่วนประกอบ, สันนิบาต = การประชุม)  กล่าวคือ
๑. ในวันนั้น พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมกัน ณ เวฬุวันวิหาร  ที่กรุงราชคฤห์ โดยไม่ได้นัดหมาย
๒. พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่มาประชุมในวันนั้น ทั้งหมดล้วนเป็นพระที่ได้ชื่อว่าเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือพระที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า  (พูดง่าย ๆ คือ พระเหล่าเหล่านั้น มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์)

เอหิ แปลว่า จงมา
ภิกขุ แปลว่า ภิกษุ
อุปสัมปทา แปลว่า การอุปสมบท หรือการบวช
เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการบวชพระ ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานด้วยพระองค์เอง โดยเปล่งพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

๓. พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมในวันนั้น ทุกองค์ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
๔. วันดังกล่าวเป็นวันเพ็ญ เดือน ๓ ( ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓)

พระโอวาทปาฎิโมกข์
โอวาท แปลว่า คำสั่งสอน
ปาฎิโมกข์ แปลว่า หลุดพ้น (จากทุกข์)
โอวาทปาฎิโมกข์ จึงหมายถึงหลักคำสั่งสอนที่ทำให้หลุดพ้น (จากทุกข์)  ในพระพุทธศาสนา

โอวาทปาฎิโมกข์ บางแห่งก็เขียนว่า โอวาทปาติโมกข์ เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นภาษาบาลีความยาว 3 คาถาครึ่ง ดังนี้

           สพฺพปาปสฺส อกรณํ                   กุสลสฺสูปสมฺปทา
           สจิตฺตปริโยทปนํ                       เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ  (จบคาถาที่หนึ่ง)
                                 ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
                                 นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
                                 น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
                                 สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ  (จบคาถาที่สอง)
                   อนูปวาโท อนูปฆาโต                   ปาติโมกฺเข จ สํวโร
                   มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ                 ปนฺตญฺจ สยนาสนํ (จบคาถาที่สาม)
                   อธิจิตฺเต จ อาโยโค                     เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ (จบครึ่งคาถา)

แปลความว่า

          ๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง  ๒. การทำแต่ความดี  ๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
          ขันติ คือความอดทน ถือเป็นตบะอย่างยิ่ง,  พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงกล่าวว่า พระนิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด, ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ถือว่าเป็นบรรชิต, ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ถือว่าเป็นสมณะ
          ๑. การไม่กล่าวร้าย  ๒. การไม่ทำร้าย  ๓. การสำรวมในพระปาฏิโมกข์  ๔. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร  ๕. การพักอยู่ ณ ที่นั่งนอนอันเงียบสงัด  ๖. ความพากเพียรในอธิจิต ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เป็นที่มาของการสั่งสอนสืบทอดกันมาว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา ก็คือ การไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

ตบะ คือ การบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้กิเลส คือความอยากลดลง  แปลว่าการเผา คือเผากิเลส
บรรพชิต คือ นักบวชในพระพุทธศาสนา (หรือศาสนาอื่น) แปลว่า ผู้ละเว้น คือละเว้นจากกิเลส
สมณะ คือ นักบวชในพระพุทธศาสนา (หรือศาสนาอื่น) แปลว่า ผู้สงบ ผู้สำรวม หมายถึงสงบสำรวมจากกิเลส
อธิจิต คือ จิตที่มีการฝึกฝนอบรม

หน้าที่ชาวพุทธในวันมาฆบูชา

  • เช้าทำบุญตักบาตร
  • ปฎิบัติธรรม ฟังธรรมเทศนา
  • เวียนเทียนรอบพระอุโบสถหรือสถานที่สำคัญทางพระศาสนา

ชาวพุทธที่ดี การไม่ทำชั่ว หมั่นทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญหรือวันอะไร ก็ควรหมั่นทำให้ได้ตลอดไป