ก่อน-หลังติดตั้ง Windows 10 ต้องทำอะไรบ้าง

หากคิดจะติดตั้ง Windows  10 ไม่ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมจะเป็นวินโดวส์เวอร์ชั่นอะไรก็ตาม ต้องเตรียมตัวอย่างไร

1. เช็คสเปคฯ Hardware
ถ้าคอมพิวเตอร์ติดตั้งวินโดวส์ 10 อยู่แล้ว คงไม่ต้องเช็คอะไร แต่ถ้าเป็น Windows เวอร์ชั่นอื่น ๆ ควรเช็คสเปคฯ Hardware ว่าเพียงพอสำหรับการติดตั้งวินโดวส์ 10 หรือไม่  โดยสเปคฯขั้นต่ำสำหรับ Windows 10 คือ
: Processor: 1GHz
: Memory 1GB/32-bit or 2GB/64-bit
: Hard disk space 16GB/32-bit OS / 20GB/64-bit OS
: Graphics Card: DirectX 9 with WDDM 1.0 driver
: Display 800×600

แต่พึงเข้าใจไว้ว่า นี่คือสเปคฯขั้นต่ำที่จะทำให้ติดตั้ง Windows  10 ได้  แต่จะทำงานได้หรือเปล่า ไม่รู้ 555+  เพราะคงไม่มีใครติดตั้งเฉพาะวินโดวส์  ต้องมีโปรแกรมอื่น ๆด้วย และต้องมีที่เก็บข้อมูลอย่างเพียงพอ  เอาเข้าจริงผมแนะนำประมาณนี้ครับ และถ้าได้ SSD มาเป็นตัวติดตั้งวินโดวส์ด้วยก็ยิ่งดี
: Processor 1 GHz ขึ้นไป
: Memory 4GB ขึ้นไป
: HDD 500GB ขึ้นไป + SSD 120GB ขึ้นไป

วิธีเช็คสเปคฯฮาร์ดแวร์
– คลิ๊กขวาที่ Computer เลือก Properties ( Computer, My Computer, This PC )
– จะเห็นสเปคฯของ Processor และ Memory

– คลิ๊กขวาที่ Computer เลือก Manage ( Computer, My Computer, This PC )
– เลือก Disk Management
– จะเห็นขนาดของ HDD หรือ SSD

2. เตรียมโปรแกรม Windows 10
วิธีการได้มาซึ่งไฟล์ติดตั้งวินโดวส์ 10 มีอยู่ 2 วิธี คือ
1. ซื้อเวอร์ชั่น OEM หรือ FPP ตามร้านไอทีทั่วไป  จะได้โปรแกรมที่เป็น DVD หรือ USB Flash Drive พร้อมทั้ง Product Key สำหรับใช้เพื่อ Activate  ใช้ติดตั้งได้เลย

2. ดาวน์โหลดไฟล์ติดตั้งจากเว็บไซท์ไมโครซอฟท์ แล้วค่อยซื้อ Product Key มาใส่ทีหลัง

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวิธีที่สอง แต่เนื่องจากปัจจุบัน ไม่ค่อยนิยมใช้ DVD แล้ว จึงจะกล่าวถึงเฉพาะการดาวน์โหลดโปรแกรม Windows 10 มาทำเป็นตัวติดตั้งผ่าน USB Flash Drive

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1. USB Flash Drive ขนาด 8GB ขึ้นไป
2. คอมพิวเตอร์ที่มีวินโดวส์ เข้าระบบอินเตอร์เน็ตได้

เริ่มต้นดาวน์โหลด Windows 10 และสร้างตัวติดตั้งผ่าน USB Flash Drive
1. เปิดเว็บบราวเซอร์ เข้ากูเกิ้ลแล้วค้นหา ” Windows 10 download”

2. เข้าไปในลิงค์ของไมโครซอฟท์ แล้วดาวน์โหลด MediaCreationTool โดยคลิ๊กที่ “ดาวน์โหลดเครื่องมือทันที”  แล้วบันทึกไฟล์ไว้ (แนะนำว่าให้ดาวน์โหลดจากเว็บไมโครซอฟท์เท่านั้น)

3. ดับเบิ้ลคลิ๊กเพื่อรันโปรแกรม MediaCreationTool
MediaCreationTool คือโปรแกรมที่ช่วยดาวน์โหลด Windows 10 และช่วยสร้าง USB Boot เพื่อให้สามารถนำ USB Flash Drive ที่มี Windows 10 ไปติดตั้งกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ได้

4. คลิ๊ก Accept เพื่อยอมรับการใช้โปรแกรม

5. What do you want to do?
– Upgrade this PC now ตัวเลือกนี้ใช้สำหรับดาวน์โหลด แล้วอัปเกรดคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เท่านั้น
– Create installation media (USB flash drive, DVD, or ISO file) for another PC  ตัวเลือกนี้ใช้สำหรับดาวน์โหลดเพื่อสร้างตัวติดตั้งวินโดวส์ 10 ลงใน Flash Drive , DVD หรือเก็บเป็นไฟล์ .ISO เพื่อนำใไปติดตั้งกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ
ให้เลือกตัวเลือกที่ 2 แล้วคลิ๊ก Next

6. เลือกภาษาและเวอร์ชั่นที่จะดาวน์โหลด โดยโปรแกรมจะเลือกให้โดยอ้างอิงจากวินโดวส์ที่เราใช้อยู่ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเอาเครื่องหมายถูก ✔️ หน้าคำว่า Use the recommended options for this PC ออก แล้วเลือกตัวเลือกตามต้องการ
– Language เลือกภาษา แม้จะมีภาษาไทย แต่แนะนำให้เลือก English (United States)
– Edition เป็น Windows 10 อยู่แล้ว
– Architecture เลือก 32-bit, 64-bit หรือ both  แนะนำ 64-bit หรือ both

7. Choose which media to use
– USB flash drive   เลือกเพื่อให้โปรแกรมดาวน์โหลด Windows 10 ลงให้ Flash Drive แล้วทำเป็นตัวติดตั้ง (สามารถบูทเพื่อติดตั้ง Windows 10 ได้ – ให้เลือกหัวข้อนี้)
– ISO file  เลือกเพื่อให้โปรแกรมดาวน์โหลดโฟล์ Windows 10 เป็นไฟล์ .ISO ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์   เราสามารถเอาไฟล์ .ISO ทำเป็นตัวติดตั้ง Windows 10 ภายหลังได้  ทั้งผ่าน USB Flash Drive หรือ DVD  แต่ต้องอาศัยโปรแกรมอื่นมาช่วย  เช่น ถ้าจะทำลงใน Flash Drive ก็ใช้โปรแกรม Yumi, Rufus เป็นต้น  ส่วนการเบิร์นลง DVD ส่วนมากใช้โปรแกรม Nero (การ Copy ไฟล์ .ISO ของ Windows 10 หรือไฟล์ที่แตกออกแล้ว  ไปวางบน Flash Drive หรือ DVD โดยตรง  ไม่สามารถทำให้ USB หรือ DVD นั้น ๆ บูทได้)
ให้เลือกหัวข้อ USB flash drive แล้วคลิ๊ก Next

8. หากเราเสียบ USB flash drive ไว้แล้วก็จะขึ้นให้เลือก แต่ถ้ายังไม่เสียบ เครื่องจะฟ้องให้เราเสียบ USB flash drive เข้าไป (อย่างต่ำ 8GB)
เสียบ USB flash drive แล้วกด Refresh drive list ก็จะขึ้นไดรฟ์ของ USB flash drive แล้วคลิ๊ก Next

9. รอจนขึ้นข้อความว่า Your USB flash drive is ready ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย คลิ๊ก Finish

3. สำรองข้อมูลไว้ในที่ปลอดภัย
การสำรองข้อมูล เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะในสภาวะใช้งานปกติ หรือเพื่อจะติดตั้งโปรแกรมใหม่   หากถามว่าการสำรองข้อมูลแบบไหนถึงจะถือว่าดีที่สุด  คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ สำรองอย่างไรก็ได้  ที่สมมติว่าคอมพิวเตอร์ไฟไหม้ทั้งเครื่อง  เรายังสามารถนำข้อมูลกลับมาใช้ได้  สำหรับวิธีที่แนะนำอาจพอแยกเป็น 2 วิธีคือ

  1. สำรองไว้ในไดรฟ์อื่น ของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ เช่น D: หรือ E: เป็นต้น เพราะโดยปกติ C: จะเป็นไดรฟ์ที่ติดตั้งโปรแกรม หากต้องการติดตั้ง Windows ใหม่ ก็เพียงแต่ฟอร์แมท C: เท่านั้น ส่วนข้อมูลในไดรฟ์อื่น ๆ ยังอยู่ปกติ   แต่ก็ไม่มีความปลอดภัย ถ้าหาก D: หรือ E: ที่เป็นที่เก็บข้อมูลเป็นพาร์ทิชั่นของฮาร์ดดิสก์ตัวเดียวกันกับ C:   เพราะถ้าฮาร์ดดิสก์เสีย  ก็จะเสียหายไปทั้งหมด
  2. สำรองไว้ใน External Hard disk, Flash drive, Hard disk ลูกอื่น ๆ  วิธีการสำรองข้อมูลแบบนี้ จะมีความปลอดภัยขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง  เพราะข้อมูลหนึ่งรายการ จะมีเก็บไว้ 2 ที่ คือที่ฮาร์ดดิสก์ซึ่งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ กับฮาร์ดดิสก์อีกลูกที่นำมาสำรอง

ข้อควรคำนึง
1. อย่าชะล่าใจว่า จะสำรองข้อมูลพรุ่งนี้  เพราะพรุ่งนี้อาจไม่มีข้อมูลให้สำรองแล้ว (คอมพิวเตอร์เสียกระทันหัน)

2. ข้อมูลสำคัญกว่าคอมพิวเตอร์ เพราะคอมพิวเตอร์ซื้อใหม่ได้ แต่ข้อมูลสำคัญ หาซื้อไม่ได้

3. การซื้อ External Hard disk มาสำรองข้อมูล เหมือนการซื้อประกัน หากข้อมูลในคอมพิวเตอร์เสีย ก็ได้ใช้ประโยชน์ หากไม่เสีย ก็เหมือนเสียเงินฟรี

4. การซื้อ External Hard disk มาสำรองข้อมูล จะให้ได้ประโยชน์จริง ๆ ก็ต้องเอามาสำรอง คือให้ข้อมูลหลักอยู่ที่คอมพิวเตอร์และข้อมูลสำรองอยู่ใน External HDD  แต่ถ้าหากจะเอาข้อมูลหลักไว้ใน External HDD ก็ควรมี External HDD อีกหนึ่งชุดไว้สำรองข้อมูลด้วย

4. เตรียมไดรเวอร์ให้พร้อม
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมไว้ก่อนจะติดตั้งวินโดวส์ใหม่ก็คือ เราต้องมีไดรเวอร์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่ในคอมพิวเตอร์นั้น ๆ  เช่น
– ไดรเวอร์การ์ดจอ
– ไดรเวอร์ชิปเซ็ต
– ไดรเวอร์การ์ดแลน
– ไดรเวอร์ไวเลส
– ไดรเวอร์การ์ดเสียง
– ไดรเวอร์ยูเอสบี
– ไดรเวอร์พริ้นเตอร์
– ไดรเวอร์อื่น ๆ
ถ้าคอมพิวเตอร์ของเรา ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดาวน์โหลดมาเตรียมไว้ทุกรายการ บางรายการอาจจะมีแผ่น DVD ที่ผู้ผลิตแถมมาให้ตอนซื้ออุปกรณ์ แต่ถ้าจะให้ดี แนะนำให้ดาวน์โหลดเวอร์ชั่นใหม่ ๆ จากอินเตอร์เน็ต

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อุปกรณ์ของเราเป็นยี่ห้ออะไร รุ่นอะไร
1. ดูที่อุปกรณ์ จะมีรุ่นติดอยู่ทุกรายการ
2. ใช้คำสั่ง dxdiag เพื่อเช็ครายละเอียด (คำสั่งนี้มักได้ผลกับคอมพิวเตอร์แบรนด์เนม)
– กดปุ่ม Windows + R จะขึ้น run
– ให้พิมพ์คำสั่ง dxdiag ในช่องสีขาวหลัง Open แล้ว Enter
– จะแสดงรายละเอียดของรุ่นเมนบอร์ดหรือรุ่นคอมพิวเตอร์ขึ้นมา

3. ดาวน์โหลโปรแกรม ประเภท SystemInfo มาเช็ค (ผมแนะนำโปรแกรม HWinfo)

เนื่องจาก Windows 10 ฉลาด ทันสมัย รู้จักอุปกรณ์แทบจะทุกอย่าง บางทีเราไม่จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์  เพียงแต่ติดตั้งวินโดวส์และเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต  Windows 10 ก็จะค้นหาไดรเวอร์และติดตั้งให้เอง  นั่นหมายความว่าอย่างน้อยเราต้องมีไดรเวอร์การ์ดแลน หรือไวเลสแลน  เพราะฉะนั้นวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการเตรียมไดรเวอร์ก่อนติดตั้งวินโดวส์ใหม่ ก็คือหาแค่ไดรเวอร์การ์ดแลน/ไวเลสแลน ก็เพียงพอแล้ว

5. ลงมือติดตั้ง Windows 10 (ตามคลิปด้านล่าง นาทีที่ 0-16)

1. บูทคอมพิวเตอร์ด้วย USB Flash Drive (ที่มี Windows 10) ถ้าคอมพิวเตอร์สามารถบูทติดตั้งแบบ UEFI ได้ ให้เลือกวิธีนี้
ส่วนวิธีทำให้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องโชว์เมนูเพื่อให้เลือกอุปกรณ์ที่จะบูท สามารถศึกษาได้จากคู่มือของรุ่นและเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ  แต่โดยปกติแล้วมักจะเป็น ESC, F1, F8, F9, F10, F11, F12  ยี่ห้อไหน ต้องกดอะไร ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บนี้เลยครับ http://www.disk-image.com/faq-bootmenu.htm

2. เลือกภาษาในการติดตั้ง (แนะนำให้เลือกภาษาอังกฤษ)

3. เลือก Install Now / ส่วน Repare your computer เป็นฟังก์ชั่นสำหรับซ่อมแซมวินโดวส์ กรณีที่ใช้ไประยะหนึ่งแล้ว วินโดวส์มีปัญหา เป็นต้น

4. ใส่ product key (แนะนำให้เลือก I don’t have a product key เพื่อใส่ภายหลัง)

5. เลือกเวอร์ชั่นที่จะติดตั้ง ถ้าเคยซื้อวินโดวส์มาแล้ว ก็เลือกเวอร์ชั่นให้ตรงกับที่ซื้อ  แต่หากยังไม่เคยซื้อ ก็เลือกตามที่คิดว่าจะซื้อ (ใช้งาตามบ้าน แนะนำ Windows 10 Home / ใช้ตามสำนักงาน แนะนำ Windows 10 Pro)

▶️ ถ้าติดตั้งแล้ว ไม่ขึ้นให้ใส่ Product key และ ไม่มีเวอร์ชั่นให้เลือก  แสดงว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ มี Product key ที่ฝังอยู่ในไบออสแล้ว  วินโดวส์จะเลือกเวอร์ชั่นที่ตรงกับ Product key ให้เองอัตโนมัติ

6. เลือก I accept the license terms เพื่อยอมรับเงื่อนไขการใช้โปรแกรม

7. เลือกรูปแบบการติดตั้งแบบ Custom

8.  เลือกลบพาร์ทิชั่น แล้วสร้างใหม่ หรือฟอร์แมทใช้พาร์ทิชั่นเดิมที่มีอยู่แล้วตามต้องการ หากติดตั้งกับคอมพิวเตอร์เครื่องเก่า ต้องระมัดระวังให้มากสำหรับการ ลบ-ฟอร์แมทพาร์ทิชั่น

6. เมื่อวินโดวส์เริ่มติดตั้ง ครั้งแรกที่วินโดวส์รีสตาร์ท แนะนำให้ถอด USB Flash Drive ออก (หรือเอา DVD ออก) เพราะหากคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ ตั้งค่าในไบออสให้เลือกบูทจาก USB เป็นอันดับแรก  คอมพิวเตอร์จะเข้าสู่การเริ่มติดตั้งวินโดวส์ใหม่

7. Let’s start with region. Is this right? เลือก United States ไปก่อน

8. Is this the right keyboard layout? เลือก US ไปก่อน

9. Want to add a second keyboard layout? เลือก Skip (ไว้ไปเพิ่มทีหลัง)

10. Sign in with Microsoft วินโดวส์จะพยายามเชิญชวนให้เราล็อกอินด้วย Account ที่เป็นของไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็น hotmail skype outlook เป็นต้น  แนะนำให้เลือก Offline account  แล้วกด Next

11. Sign in with Microsoft  Instead? แม้เราจะเลือก Offline account แล้ว ไมโครซอฟท์ก็ยังไม่วาย จะให้เราใช้ microsoft account ที่เป็นแบบออนไลน์อยู่นั่นแหละ  ให้คลิ๊ก No

12. พิมพ์ชื่อยูสเซอร์ตามที่เราต้องการ / พาสเวิร์ดจะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้

13. Make cortana your personal assistant? ให้เลือก Yes

14. choose privacy settings for your device ให้เลือก Accept

รอสักครู่ก็เป็นอันติดตั้ง Windows 10 เสร็จเรียบร้อย

6. สิ่งที่ต้องทำ หลังจากติดตั้งวินโดวส์เสร็จ(คลิปด้านล่าง นาทีที่ 16-จบ)

1. ตั้งวัน เดือน ปี เวลา ให้ถูกต้อง

2. ตั้งโลเคชั่นเป็นประเทศไทย และเพิ่ม Thai Keyboard Layout

3. ตั้งค่าให้ปุ่มตัวหนอน  ~  เป็นตัวเปลี่ยนภาษาในการพิมพ์ข้อความ

4. ดึง Desktop Icon ออกมาบนหน้าจอ

5. ตั้งชื่อคอมพิวเตอร์ให้ตรงตามที่ต้องการ

6. ติดตั้งไดรเวอร์ใหครบถ้วน

7. ติดตั้งโปรแกรมใช้งานตามต้องการ

อย่าลืมอัปเดดวินโดวส์และโปรแกรมป้องกันไวรัสอย่างสม่ำเสมอนะครับ