Storage Spaces คืออะไร

Storage Spaces คืออะไร

eaksamwa favicon

โดย เอกสามวา

Storage Spaces คืออะไร
Storage Spaces คือฟีเจอร์พิเศษอย่างหนึ่งที่มีในวินโดวส์  ทำหน้าที่ช่วยปกป้องข้อมูลอันเกิดจากเสียหายของอุปกรณ์เก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น HDD, SSD, USB Storage   ทำหน้าที่เหมือน RAID แต่เป็นลักษณะการจัดการด้วยซอฟท์แวร์   โดยใช้อุปกรณ์เก็บข้อมูล (HDD, SSD, USB Storage) รวมกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า POOL แล้วนำมาสร้างเป็น Storage Spaces โดยมักจะมีการจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นสองชุด ถ้าอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งเสียหาย ผู้ใช้งานก็ยังมีข้อมูลอยู่อีกชุดหนึ่ง  และถ้าพื้นที่ว่างของ Storage Spaces ลดลง  ก็สามารถเพิ่มอุปกรณ์เก็บข้อมูลเข้าไปใน Storage Spaces ได้ในภายหลัง ตราบเท่าที่ช่องทางการเชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์จะรองรับ

อุปกรณ์สำหรับสร้าง Storage Spaces
ได้แก่ HDD, SSD, USB HDD, USB SSD ตั้งแต่ 1 ลูกขึ้นไป (ไม่รวมดิสก์ที่ติดตั้งวินโดวส์) นั่นหมายความว่า คอมพิวเตอร์ที่เหมาะสำหรับการใช้งานฟีเจอร์ Storage Spaces จะต้องมีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลในเครื่องอย่างน้อย 2 ลูก (ติดตั้งวินโดวส์ 1 ลูก และนำมาจัดการเพื่อใช้ฟีเจอร์ Storage Spaces อีก 1 ลูกขึ้นไป   เมื่อพิจารณาถึงข้อนี้ คอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมจะต้องเป็น Desktop PC หรือ Server ส่วนโน้ตบุ๊คแม้จะเพิ่ม USB Storage ได้ แต่ก็ดูเกะกะ ไม่สะดวกในการทำงาน

ผลที่ได้รับจาการสร้าง Storage Spaces

  • ไม่ว่าจะสร้างจากอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลกี่ลูก เราสามารถจัดการให้มองเห็นเป็นไดรฟ์เดียวได้
  • มีความความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล
  • อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่นำมารวมกันเพื่อสร้าง Storage Spaces จะไม่สามารถมองเห็นเป็นเอกเทศใน Windows Exlorer (ไม่สามารถมองเห็นเป็นลูก ๆ ใน ThisPC แต่จะมองเห็นในส่วนที่ทำเป็น Storage Spaces แล้ว)

ประเภทของ Storage Spaces 
(ตามตัวอย่าง HDD 930GB ก็คือ 1TB เพียงแต่ต้องการให้เห็นตัวเลขชัดเจน จึงใช้ความจุจริงที่วินโดวส์มองเห็นเป็นข้อมูลในการเขียน และตัวเลขจะไม่ตรงเป๊ะทีเดียวนัก)

1.  Simple Storage Spaces
: เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านเขียนข้อมูล  แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันข้อมูลในกรณีที่ดิสก์เสียหาย  เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลชั่วคราวและข้อมูลที่ไม่สำคัญ  ถ้าดิสก์ลูกใดลูกหนึ่งเสีย ข้อมูลก็จะหายทั้งหมด
: ใช้ดิสก์ตั้งแต่ 1 ลูกขึ้นไป
: พื้นที่ความจุที่ใช้ได้ เท่ากับขนาดของดิสก์ทั้งหมดรวมกัน
     – รูปที่หนึ่ง HDD 930GB x 2 เมื่อเซ็ตเป็น Simple จะได้พื้นที่ความจุเท่ากับ 1.81TB (1860GB) 
     – รูปที่สอง HDD 930GB x 3 เมื่อเซ็ตเป็น Simple จะได้พื้นที่ความจุเท่ากับ 2.72TB (2790GB)

2. Two-Way Mirror Storage Spaces
: เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันข้อมูลที่เกิดจากความเสียหายของดิสก์ โดยในการเขียนข้อมูลทุกครั้ง จะมีการเขียนข้อมูล 2 สำเนา ลงในดิสก์ 2 ลูก
: ใช้ดิสก์อย่างน้อย 2 ลูก และดิสก์เสียได้ 1 ลูก โดยที่ข้อมูลไม่หาย
: พื้นที่ความจุที่ใช้ได้ เท่ากับพื้้นที่ของดิสก์ทั้งหมดรวมกัน หารด้วย 2 (เขียนข้อมูล 2 สำเนา ลงในดิสก์ 2 ลูก)
     – รูปที่สาม HDD 930GB x 2 เมื่อเซ็ตเป็น Two-way mirror จะได้พื้นที่ความจุเท่ากับ 930GB
     – รูปที่สี่ HDD 930GB x 3 เมื่อเซ็ตเป็น Two-way mirror จะได้พื้นที่ความจุเท่ากับ 1.35TB (1395GB)

3. Three-Way Mirror Storage Spaces
: เป็นฟีเจอร์ที่คล้ายกับ Two-Way Mirror พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันข้อมูลที่สูงขึ้น โดยในการเขียนข้อมูลทุกครั้ง จะมีการเขียนข้อมูล 3 สำเนา ลงในดิสก์ 3 ลูก
: ต้องใช้ดิสก์อย่างน้อย 5 ลูก และดิสก์เสียหายได้ 2 ลูก โดยที่ข้อมูลไม่หาย
: พื้นที่ความจุที่ใช้ได้  เท่ากับพื้นที่ของดิสก์ทั้งหมดรวมกัน หารด้วย 3 (เขียนข้อมูล 3 สำเนา ลงในดิสก์ 3 ลูก)
     – รูปที่ห้า HDD 930GB x 5 เมื่อเซ็ตเป็น Three-way mirror จะได้พื้นที่ความจุเท่ากับ 1550GB (1.50TB)

4. Parity Storage Spaces
: เป็นฟีเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอ่านเขียนข้อมูลพร้อมทั้งปกป้องข้อมูลจากความเสียหายของดิสก์ 
ทุกครั้งที่เขียนข้อมูล จะมีการแบ่งเขียนข้อมูลลงในดิสก์ 2 ลูก และเขียน Parity Information ลงในดิสก์อีกหนึ่งลูกสลับกันไป
: ต้องใช้ดิสก์อย่างน้อย 3 ลูก ดิสก์เสียหายได้ 1 ลูก โดยที่ข้อมูลไม่หาย ถ้าต้องการรูปแบบที่ดิสก์เสียหายได้ 2 ลูกโดยที่ข้อมูลไม่หาย ต้องใช้ดิสก์ทั้งหมด 7 ลูก
: ทำงานคล้ายกับ RAID 5
: พื้นที่ความจุที่ใช้ได้ เท่ากับพื้นที่ของดิสก์ทั้งหมดรวมกัน หารด้วย 3  แล้วคูณ 2 
     – รูปที่หก HDD 930GB x 3 เมื่อเซ็ตเป็น Parity จะได้พื้นที่ความจุเท่ากับ 1.81TB (1860GB)
     – รูปที่เจ็ด HDD 930GB x 5 เมื่อเซ็ตเป็น Parity จะได้พื้นที่ความจุเท่ากับ 3.01TB (3100GB)

#6 Parity
#7 Parity

ข้อสังเกตุ

  1. Simple Spaces ได้ความเร็ว  เพราะมีการแยกข้อมูลในแต่ละชุดเขียนลงในดิสก์ทั้งหมดพร้อม ๆ กัน ได้ความจุดิสก์ตามขนาดที่มี แต่ไม่ปลอดภัย
  2. Mirror Spaces ได้ความปลอดภัย แต่ได้ความจุลดลง ยิ่งต้องการความปลอดภัยขึ้น ก็ยิ่งได้ความจุลดลง และการเขียนข้อมูลก็ช้าไปด้วย เพราะต้องเขียนพร้อม ๆ กันหลายลูก
  3. Parity Spaces ถ้าต้องการความเร็วด้วย ความปลอดภัยด้วย ใช้แบบนี้
  4. ดิสก์ที่นำมาสร้างเป็น Storage Spaces ต้องไม่ใช่ดิสก์ที่ติดตั้ง Windows
  5. การสร้าง Storage Spaces ต้องใช้สิทธิ์ Administrator ในการจัดการ
  6. สามารถเพิ่มดิสก์เข้าไปใน Storage Spaces ภายหลังได้
  7. สามารถลบดิสก์ออกจาก Storage Spaces ได้
  8. สามารถเปลี่ยนชื่อไดฟร์ และลำดับไดรฟ์ได้ (drive letter)
  9. ย้ายดิสก์พูลไปเครื่องอื่นได้ หรือติดตั้งวินโดวส์ใหม่ได้ (แนะนำให้ถอดสายดิสก์ออกก่อนที่จะติดตั้งวินโดวส์ใหม่)
  10. ควรเลือกให้ระบบทำการ Optimize อัตโนมัติเมื่อมีการเพิ่มดิสก์ใหม่เข้าไปใน Pool