ช่างคอมมือใหม่ : Mainboard คืออะไร

Mainboard คือแผงวงจรหลักในคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่เชื่อมต่อชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น CPU, Memory , Hard Disk Drive, VGA Card, Printer เป็นต้น โดยอาจเชื่อมต่อผ่าน Slots ที่มีอยู่บนเมนบอร์ดโดยตรง หรือเชื่อมต่อผ่านสายแล้วคอนเน็คกับพอร์ตของเมนบอร์ดอีกทีก็ได้

Mainboard เป็นคำที่คนทั่วไปนิยมเรียกกัน บางคนอาจจะเรียกว่า Motherboard และเขียนเป็นคำย่อว่า MB ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า  คือเมนบอร์ด (บางคนอาจจะเรียกว่า Systemboard)
Mainboard = บอร์ดหลัก
Motherboard = บอร์ดแม่
Systemboard = บอร์ดของระบบ

IBM Personal Computer ที่ผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 1981 ได้ชื่อว่าเป็นเมนบอร์ดรุ่นแรกของโลก โดยในขณะนั้น มีชื่อเรียกว่า “Planar”

เมนบอร์ดนับได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ผลิตหลากหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็มีหลายสเปคฯ หลายรุ่นแล้วแต่ใครจะต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองมีจุดเด่นด้านใด ปัจจุบันเมนบอร์ดที่นิยมในประเทศไทยได้แก่ ยี่ห้อ Asrock, Gigabyte, MSI, Asus, Biostar ส่วนในคอมพิวเตอร์แบรนด์เนมแม้จะมีรุ่นของเมนบอร์ดเป็นของตนเอง แต่มักจะเป็นเมนบอรด์ OEM ที่ผลิตโดยบริษัทต่าง ๆ ข้างต้นและมีรูปแบบของเมนบอร์ดเฉพาะของตน เมนบอร์ดที่เคยมีในอตีดแต่ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นในตลาด ได้แก่ Lemel, Aopen, Abit, Intel, DFI, PC Chips, P&A, ECS เป็นต้น

ส่วนประกอบของเมนบอร์ด

ส่วนประกอบของเมนบอร์ดแต่ละรุ่นอาจแตกต่างกันไป ส่วนประกอบบางอย่างมีความจำเป็น ขณะที่บางอย่างจะมีหรือไม่มีก็ได้  ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะส่วนประกอบที่ผู้เขียนคิดว่า จำเป็นสำหรับช่างคอมมือใหม่ที่จะต้องรู้ (การเรียงลำดับต่อไปนี้ ไม่ได้เน้นความสำคัญมาก-น้อย แต่เรียงตามรูปด้านล่างเพื่อให้ดูง่าย)

  1. CPU Fan Connector สำหรับเสียบสายไฟพัดลมระบายความร้อนซีพียู
  2. Memory Slots สำหรับติดตั้ง Memory
  3. 24-pin ATX Power Connector สำหรับเสียบไฟเลี้ยงเมนบอร์ดทั้งระบบ คอมพิวเตอร์รุ่นเก่าจะใช้เพียง 20-pin แต่ปัจจุบันใช้เป็น 24-pin แต่ที่สายเพาเวอร์ซัพพลาย ยังทำแบบ 20-pin+4-pin เพื่อให้สามารถใช้กับเมนบอร์ดรุ่นเก่าได้ด้วย
  4. CPU Socket ซ็อกเก็ตสำหรับติดตั้งซีพียู ปัจจุบันแยกออกชัดเจนระหว่าง CPU Intel กับ AMD
  5. USB 3.0 Headers สำหรับเชื่อมต่อกับพอร์ต USB 3.0 หน้าเคส
  6. SATA Connector สำหรับเสียบสายสัญญาณอุปกรณ์ที่เป็น SATA (Serial ATA) ได้แก่ Hard Disk Drive, Solid State Drive, Optical Disk Drive
  7. CMOS Battery เป็นถ่านกระดุมเบอร์ CR2032 3V ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานสำหรับเมนบอร์ดทั่วไป ส่วน CMOS Battery ในโน้ตบุ๊คอาจมีขนาดแตกต่างจากนี้บ้าง

    | ตัวเลข 20 : ขนาดความกว้างของแบตเตอรี่ 20 มม.  | ตัวเลข 32 : ขนาดความหนาของแบตเตอรี่ 3.2 มม.

  8. Expansion Slots สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น VGA Card, Sound Card, Lan Card เป็นต้น
    : ISA Slot สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อแบบ ISA
    : PCI Slot สำหรับติดตั้งอุปกรณ์การ์มีการเชื่อมต่อแบบ PCI
    : AGP Slot สำหรับติดตั้งการ์ดจอที่มีการเชื่อมต่อแบบ AGP
    : PCI Express สำหรับติดตั้งอุปกรณ์มีการเชื่อมต่อแบบ PCI Express
  9. Chipset เป็นตัวควบควมการทำงานทั้งหมดของเมนบอร์ด แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Northbridge และ Southbridge
  10. Clear CMOS Jumper ตำแหน่งสำหรับซ็อตจัปเปอร์เพื่อเคลรียร์การตั้งค่าในไบออส
  11. System Panel Connector (Front Panel) จุดสำหรับเสียบสายจากหน้าเคส เพื่อต่อกับ ปุ่มเปิด-ปิด, ปุ่มรีเซ็ต, ไฟ LED แสดงสถานะต่าง ๆ รวมทั้งลำโพงเสียงบี๊บของคอมพิวเตอร์
  12. USB 2.0 Headers สำหรับเชื่อมต่อกับพอร์ต USB 2.0 หน้าเคส
  13. Parallel Port Connector สำหรับเสียบสายเพิ่ม LPT Port
  14. Serial Port Connector สำหรับเสียบสายเพิ่ม Serial Port (COM Port)
  15. Front Audio Connector  สำหรับเชื่อมต่อกับแจ็คลำโพงและไมค์ที่ต่อมาจากด้านหน้าเคส
  16. System Fan Connector สำหรับเสียบไฟเลี้ยงพัดลมเคส
  17. 4-pin P4 Power Connector สำหรับเสียบสายไฟ 12V จากเพาเวอร์ซัพพลาย ปัจจุบันบางเมนบอร์ดอาจเป็น 8-pin โดยสายจากเพาเวอร์ซัพพลายรุ่นประสิทธิภาพสูงมักจะเป็น 8-pin แต่สามารถแยกออกจากกันได้ (4-pin+4-pin)
  18. Back Panel Ports พอร์ตที่อยู่บนเมนบอร์ดซึ่งมองเห็นได้ด้านหลังเคสคอมพิวเตอร์หลังจากที่ติดตั้งแล้ว
    : PS/2 พอร์ตสำหรับคีย์บอร์ดหรือเม้าส์ที่เป็นแบบ PS/2 โดยปกติจะมีการแยกกันอย่างชัดเจน พอร์ตสีม่วงสำหรับคีย์บอร์ด ส่วนพอร์ตสีเขียวสำหรับเม้าส์  แต่ถ้าเมนบอร์ดรุ่นใดมีพอร์ต PS/2 เพียงพอร์ตเดียว สีที่พอร์ตจะแบ่งครึ่งระหว่างสีม่วงกับสีเขียว แสดงว่ารองรับทั้งคีย์บอร์ดและเม้าส์
    : Serial Port หรือ COM Port สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อแบบ Serial
    : Parallel Port หรือ LPT Port สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อแบบ Parallel
    : USB Port สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ USB
    : VGA Port สำหรับเชื่อมต่อกับจอที่เป็นแบบ VGA
    : DVI Port สำหรับเชื่อมต่อกับจอที่เป็นแบบ  DVI
    : HDMI Port สำหรับเชื่อมต่อกับจอที่เป็นแบบ HDMI
    : Display Port (DP) สำหรับเชื่อมต่อกับจอที่เป็นแบบ DP
    : RJ-45 Port สำหรับเชื่อมต่อกับสายแลน
    : Audio Jack สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสียง
    S/PDIF Connector สำหรับต่อสายสัญญาณเสียงแบบดิจิตอล ที่คิดค้นโดย Sony และ Philips (Sony Philips Digital Interface)
  19. Floppy Disk Drive Connector สำหรับเสียบสายสัญญาณอุปกรณ์อ่านฟลอปปี้ดิสก์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว
  20. ATA Conntector สำหรับเสียบสายสัญญาณอุปกรณ์ที่เป็น ATA หรือจะเรียกว่าช่อง IDE หรือ PATA ก็ได้ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว แต่ยังเห็นบ้างในเมนบอร์ดบางรุ่น
    ATA :  advanced technology attachment
    IDE : Integrated Drive Electronics
    PATA : Parallel ATA
  21. อื่น ๆ 

Mainboard มักจะเป็นตัวเลือกลำดับที่สอง รองจาก CPU เพราะคนส่วนมากมักจะตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ CPU ยี่ห้ออะไร รุ่นไหน แล้วค่อยมาเลือกว่าเมนบอร์ดรุ่นไหนบ้างที่ใช้ได้กับ CPU ที่เลือกไว้ แล้วเลือกรุ่นที่มีพอร์ตการเชื่อมต่อต่าง ๆ ครบตามที่ตนเองต้องการ สำหรับช่างมือใหม่สิ่งที่ควรคำนึงเป็นพิเศษก็คือ ต้องอ่านคู่มือเมนบอร์ดให้ดี สิ่งที่ควรรู้ก่อนเลือกเมนบอร์ดก็คือ

  1. ใช้กับ CPU อะไรได้บ้าง
  2. ใช้กับ Memory รุ่นไหน มีกี่สล๊อต เพิ่มได้สูงสุดเท่าไหร่
  3. ใส่ Hard Disk Drive ได้กี่ลูก
  4. ใส่ SSD M.2 ได้หรือไม่ ถ้าใส่ได้ เป็น SSD M.2 แบบ SATA หรือ PCIe NVMe
  5. มีสล๊อตเพิ่ม VGA หรือไม่
  6. พอร์ตการใช้งานเฉพาะด้าน มีหรือไม่ เช่น PS/2, COM Port, LPT Port, USB Type-C เป็นต้น

เราไม่จำเป็นจะต้องจำได้ทุกอย่าง แต่เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า เมื่อเราต้องการรู้ในสิ่งที่เราจำไม่ได้ เราจะหาข้อมูลได้จากไหน… สวัสดีครับ