เริ่มเรียนรู้เพื่อเดินสายแลน ตอนที่ 1

อุปกรณ์ที่พึงมี สำหรับผู้ที่จะเดินสายแลน

เป็นนักรบต้องมีอาวุธประจำกายฉันใด การเป็นช่างเดินสายแลน ก็ต้องมีเครื่องมือประจำตัวฉันนั้น เครื่องมือที่จะพูดถึง เป็นเครื่องมือสำหรับช่างบ้าน ๆ ที่ไม่ได้รับงานใหญ่โต และราคาเครื่องมือก็สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องคิดมาก

1. คีมเข้าหัวแลนตัวผู้ (RJ-45 Crimp Tool) ใช้เพื่อย้ำสายแลนเข้ากับหัวแลนตัวผู้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีคีมสำหรับเข้าหัวแลนตัวผู้ในท้องตลาดบ้านเราหลายยี่ห้อ ตั้งแต่ราคาหลักร้อยถึงหลักพัน แต่เพื่อให้เหมาะกับมือใหม่อย่างเรา ผมแนะนำคีมย้ำหัวแลนตัวผู้ยี่ห้อ Link รุ่น TL-1103R ราคาประมาณ 500.-  คุณภาพดี  ราคาไม่แพง ที่สำคัญสามารถใช้ย้ำหัวโทรศัพท์ได้ด้วย (หัวแลน = RJ-45, หัวโทรศัพท์ RJ-11) 

คีมย้ำหัวแลนตัวผู้ยี่ห้อ Link รุ่น TL-1103R

2. คีมเข้าหัวแลนตัวเมีย (RJ-45 Impact Tool) ใช้เพื่อย้ำสายแลนเข้ากับหัวแลนตัวเมีย แนะนำคีมย้ำหัวแลนตัวเมียยี่ห้อ Link รุ่น TL-3116 ราคาประมาณ 450.- 

3. เครื่องมือเช็คสายแลน (Network Cable Tester) เครื่องมือในการทดสอบสายแลน เข้าหัวถูกต้องหรือไม่ หรือมีสายหัก ขาด  แนะนำยี่ห้อ Link รุ่น TX-1302 ราคาประมาณ 450.- 

4. ไขควงขนาดพอดีมือ แนะนำให้เลือกรุ่นที่สามารถถอดสลับด้านเพื่อใช้ระหว่างด้านแฉก กับด้านแบน ได้ เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน พกตัวเดียวก็เหมือนมีไขควงสองอัน

5. มีดคัตเตอร์ เลือกขนาดที่สะดวก

6. หากต้องการติดตั้งสายในอาคารระหว่างชั้น, ระหว่างห้อง อาจต้องใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น สว่าน เลื่อย ตลับเมตร อุปกรณ์วัดระดับน้ำ เป็นต้น

แม้ในการลงมือทำงานจริง ๆ เราอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้กล่าวถึงอื่น ๆ อีก แต่จากประสบการณ์ของตนเอง คิดว่าอุปกรณ์ที่กล่าวข้างต้นน่าจะเพียงพอสำหรับการเริ่มต้นที่ดีในการจะเป็นช่างติดตั้งสายแลน (รูปอุปกรณ์ที่ถ่ายให้ดู อาจจะเขรอะไปหน่อย นั่นหมายความว่าได้ผ่านงานมาอย่างโชคโชน)

สนใจสั่งซื้อชุดอุปกรณ์สำหรับช่างแลนครบชุด ยี่ห้อ Link รุ่น US-8030 ประกอบด้วย 1. คีมเข้าหัวแลนตัวผู้ 2. คีมเข้าหัวแลนตัวเมีย 3.อุปกรณ์เช็คสาย 4. ฐานรองเข้าหัวแลนตัวเมีย พร้อมกระเป๋าเก็บอุปกรณ์ ราคาเพียง 1,990.- (ส่งฟรีทั่วประเทศ) สามารถสั่งซื้อได้ที่ไลน์ไอดี @s.a.comtech

การเลือกซื้อสายแลน - หัวแลนตัวผู้ - หัวแลนตัวเมีย

1. สายแลน คือสายสัญญาณสำหรับเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบแลน (กล่าวถึงเฉพาะรุ่นที่ยังเป็นที่นิยมและมีขายในปัจจุบัน)
ประเภทของสายแลน แบ่งตามสเปคฯ

  • CAT5e  สายทองแดงตีเกลียว 4 คู่ รองรับความเร็วได้สูงสุด 1Gbps ที่ระยะไม่เกิน 100 เมตร
  • CAT6 สายทองแดงตีเกลียว 4 คู่ รองรับความเร็วสูงสุด 1Gbps ที่ระยะไม่เกิน 100 เมตร และรองรับความเร็วสูงสุด 10Gbps ที่ระยะไม่เกิน 50 เมตร
  • CAT6a สายทองแดงตีเกลียว 4 คู่ รองรับความเร็วสูงสุด 1Gbps ที่ระยะไม่เกิน 100 เมตร และรองรับความเร็วสูงสุด 10Gbps ที่ระยะไม่เกิน 50 เมตร
  • CAT7 สายทองแดงตีเกลียว 4 คู่ รองรับความเร็วสูงสุด 1Gbps ที่ระยะไม่เกิน 100 เมตร และรองรับความเร็วสูงสุด 10Gbps ที่ระยะไม่เกิน 100 เมตร

คำที่ควรรู้เกี่ยวกับสายแลน

  • UTP : Unshielded Twisted Pair สายทองแดง 8 เส้น ตีเกลียวเป็นคู่ ไม่มีซิลด์ป้องกันสัญญาณรบกวน
  • STP : Shielded Twisted Pair  สายทองแดง 8 เส้น ตีเกลียวเป็นคู่ มีซิลด์ป้องกันสัญญาณรบกวน โดยชิลด์จะพันรอบสายทั้ง 8 เส้น
  • FTP : Foiled Twisted Pair สายทองแดง 8 เส้น ตีเกลียวเป็นคู่ มีฟอยด์เป็นซิลด์ป้องกันสัญญาณรบกวน โดยชิลด์จะพันรอบสายแต่ละคู่ 
  • Filler Slot/ Cross Slot คือพลาสติกแกนกลางในสาย CAT6 ขึ้นไป มีไว้เพื่อแยกสายแต่ละคู่ออกจากกันเพื่อลดสัญญาณรบกวน
  • OUTDOOR คือสายแลนที่เหมาะสำหรับติดตั้งนอกอาคาร เพราะมี PE PVC ห่อหุ้มภายนอกเพื่อป้องกันความเสียหายจากแดดและฝน โดยจะมีทั้งที่เป็น UTP, STP, FTP 
  • 100M/BOX คือสายแลนที่เป็นกล่องขนาดเล็ก มีความยาวกล่องละ 100 เมตร
  • 305M/BOX คือสายแลนที่เป็นกล่องขนาดมาตรฐาน มีความยาวกล่องละ 305 เมตร ปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายทำเป็นแบบม้วน 305 เมตร
  • 500M/ROLL คื่อสายแลนที่เป็นม้วนขนาด 500 เมตร
  • UTP Cable + Slink คือสายแลนที่มาพร้อมกับสลิง เพื่อความสะดวกในการติดตั้งนอกอาคาร
  • UTP Cable + DC คือสายแลนที่มาพร้อมกับสายไฟ 2 เส้น เพื่อความสะดวกในการติดตั้งในจุดที่ยังไม่มีปลั๊กไฟ  แม้ผู้ผลิตหลายรายรับรองว่าสายไปที่มาพร้อมกับสายแลน รองรับการเชื่อมต่อไฟที่เป็น AC 220V ได้ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าอุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อใช้ไฟมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าใช้ไฟมากเกินไปอาจทำให้สายไฟร้อนผิดปกติจนพลาสติกหุ้มสายละลายได้  (ผมคิดว่าเหมาะกับอุปกรณ์ที่ใช้ไฟไม่มากนัก เช่น CCTV, IP Camera เป็นต้น)
สาย UTP (รูปจาก interlink)
สาย STP,FTP (รูปจาก interlink)
FILLER SLOT (รูปจาก interlink)
สายแบบมีสายไฟ/สายสลิง (รูปจาก interlink)

2. หัวแลนตัวผู้ (RJ-45 Mudular Jack ฺ) คือหัวแลนตัวผู้

  • เลือกซื้อให้ตรงกับขนาดสายที่ใช้งาน CAT5e, CAT6, CAT7
  • เลือกซื้อยี่ห้อที่ได้รับมาตรฐานสากล เช่น AMP, LINK เพราะยี่ห้อที่ราคาถูกและไม่ได้มาตรฐาน พลาสติกที่นำมาผลิตจะหนาเกินไป และแข็งกระด้าง ทำให้ไม่สะดวกในการติดตั้ง

3. บูทหัวแลนตัวผู้ (RJ-45 Mudular Jack ฺBOOT) คือพลาสติกหุ้มหัวแลน เพื่อให้มีความกระชับ สวยงามตามสีที่เรียง

  • เลือกซื้อให้ตรงกับขนาดสายที่ใช้งาน CAT5e, CAT6, CAT7
  • เลือกซื้อยี่ห้อที่ได้รับมาตรฐานสากล เช่น AMP, LINK เพราะยี่ห้อที่ราคาถูกและไม่ได้มาตรฐาน พลาสติกที่นำมาผลิตจะหนาเกินไป และแข็งกระด้าง ทำให้ไม่สะดวกในการติดตั้ง
หัวแลนตัวผู้ (รูปจาก interlink)
บูทหัวแลน (รูปจาก interlink)

4. Cable Label / Cable Marker เป็นตัวเลขสำหรับระบุสาย เพื่อป้องกันความสับสนระหว่างหัวสาย และปลายสาย ถ้าจำนวนสายที่ติดตั้งไม่เยอะเกินไป จะไม่ใส่ Label ก็ได้

  • Label แบบครอบไปในตัวสาย ราคาไม่แพง แต่ต้องใส่เข้าไปก่อนเข้าหัวแลนตัวผู้
  • Label แบบพิมพ์แล้วพันที่ตัวสาย หรือรัดเข้ากับตัวสาย จะมีต้นทุนที่สูงกว่า เพราะต้องใช้เครื่องพิมพ์ Label สำหรับสายโดยเฉพาะ
  • Label แบบไทย ๆ พิมพ์ใส่กระดาษแข็ง แล้วนำไปเคลือบพลาสติก เจาะรูห้อยไว้ที่สาย

5. หัวแลนตัวเมีย (RJ-45 Keystone) เป็นอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อกับสายแลน ให้มีช่องสำหรับเสียบสายแลน เพื่อเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ นิยมติดรวมกับกล่องลอย หรือกล่องฝังตามผนัง

  • เลือกซื้อให้ตรงกับขนาดสายที่ใช้งาน CAT5e, CAT6, CAT7
  • เลือกซื้อยี่ห้อที่ได้รับมาตรฐานสากล เช่น AMP, LINK เพราะยี่ห้อที่ราคาถูกและไม่ได้มาตรฐาน เขี้ยวทองเหลืองจะขึ้นสนิมง่าย
ตัวเลขระบุสาย (รูปจาก rs-online.com)
หัวแลนตัวเมีย (รูปจาก interlink)

ุุ6. กล่องและฝาหน้า สำหรับติดดตั้งหัวแลนตัวเมีย 

  • เลือกกล่องลอย และฝาหน้าให้ตรงกับยี่ห้อและรุ่นของหัวแลนตัวเมีย
  • กล่องลอยยี่ห้อ AMP, Link จะมีสีแตกต่างจากกล่องลอยที่นิยมใช้ในระบบไฟฟ้า เช่น ยี่ห้อ Pansonic เมื่อติดตั้งใกล้จะดูไม่สวยงาม แก้ปัญหาได้ด้วยการใช้กล่องลอยและฝาปิดหน้าแบบเดียวกับระบบไฟฟ้าและใช้ตัวแปลงในการล็อกหัวแลนตัวเมีย
กล่องลอยและฝาปิด (รูปจาก interlink)